ประวัติหลวงพ่อหวั่น
พระครูพิพิธธรรมาทร หรือหลวงพ่อหวั่น มีนามเดิมว่า หวั่น นามสกุล แพนนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๗๘ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๑๑ คํ่าเดือน ๙ ปีกุน ที่บ้านคลองคูณ หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองคูณ อำเภอ ตะพานหิน เมืองพิจิตร โยมบิดามีนามว่า นายหมึก เป็นหมอกลางบ้านหรือแพทย์แผนโบราณ โยมมารดาชื่อ นางขอด แพนนท์มีพี่น้องรวมทั้งหมด ๑๑ คน ผู้ชาย ๕ คนผู้หญิง ๖ คน ส่วนหลวงพ่อหวั่น ท่านเป็นลูกคนที่ ๔ ของครอบครัว
เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๒๑ พ่อแม่จึงจัดการนำไปฝากเป็นศิษย์วัดเพื่อเรียนท่องคำขานนาค และในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๙ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๘ คํ่า เดือน ๖ ปีวอก ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในพัทธสีมาของวัดคลองคูณ โดยมี พระครูพิเศษ ธรรมรัตน์ วัดหาดแตงโม อำเภอ ตะพานหิน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกานนท์ วัดไผ่หลวง เป็นพระกรรมวาจาจารย์และ พระธรรมธร สง่า วัดไซลงโขน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับนามฉายาว่า ?กุสลจิตโต? เมื่อบวชในพระศาสนาแล้วท่านตั้งใจแน่วแน่ในการสวดร้องท่องบ่นเจ็ดตำนานสิบสองตำนาน จนญาติโยมต่างร่วมอนุโมทนาบุญกับท่าน และญาติโยมชาวบ้านคลองคูณ ต้องการให้ท่านครองผ้ากาสาวพัตรอันเป็นหลักชัยในทางพระพุทธศาสนาไปนานๆประกอบกับท่านนั้นเป็นลูกหลานชาวบ้านนี้ ซึ่งก็ไม่ทำให้ญาติโยมผิดหวังเนื่องจากหลวงพ่อหวั่นแม้จะเป็นสัทธิวิหาริกคือหมายความว่า หลวงพ่อหวั่น ท่านเป็นผู้ก้าวเข้ามาใหม่ในอารามแห่งนี้ก็จริงอยู่แต่ท่านเป็นพระหนุ่มผู้ เคร่งครัด ในพระธรรมวินัยเป็นยิ่งนัก เร่งเรียนทำวัตรสวดมนต์และศึกษาข้อวัตรปฏิบัติทาง พระศาสนาอันเป็นคำสอนของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ละความเพียรพยายามที่จะเรียนรู้จนญาติโยมศรัทธาทั้งหมู่บ้านเมื่อบวชได้ ๓ พรรษาจึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลพระบวชใหม่ภายในวัดหรือเรียกว่า แต่งตั้งเป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสนั้นเอง
ด้านวิชาอาคม
สำหรับวิชาอาคมของท่านนั้น ครูบาอาจารย์ในสายอาคมของท่านที่ไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ ก็คือบิดาของหลวงพ่อหวั่น ซึ่งเป็นนักเล่นอาคม นับว่าเป็นผู้ขมังเวทย์อีกคนหนึ่งในย่านคลองคูณ เพราะหมอหมึก โยมบิดาของท่านเป็นหมอแผนโบราณที่ชอบและฝักใฝ่ในเรื่องคาถาอาคมจนถือกันว่าขึ้นชั้นระดับแถวหน้าของชาวบ้านย่านคลองคูณ เพราะเมื่อ ๕-๖๐ปีก่อน นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อหวั่นได้เรียนวิชาจากตำราของหลวงพ่อโพธิ์ วัดคลองหมาเน่า ซึ่งหลวงพ่อโพธิ์ท่านเป็นพระมอญที่ไปจาก จ.ปทุมธานี มีความเชี่ยวชาญในการลงตะกรุดคงกระพัน รวมทั้งพระอาจารย์รอด และหลวงพ่อจันทร์ วัดคลองคูณพระเกจิอาจารย์นามอุโฆษในอดีต
เมื่อศึกษามาก็ฝึกปรือจนแน่ใจว่าใช้ได้ในเรื่องพุทธคุณไม่ขาดไม่เกินความสามารถที่หลวงพ่อหวั่นท่านได้เรียนมาก็มอบให้ญาติโยมซึ่งเดินทางมาจากที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลเมื่อมีประสบการณ์ต่างบอกกล่าวเล่าต่อๆ กันไป กระทั่งท่านนั่งต้อนรับญาติที่ต่างดั้นด้นมาหาท่าน แม้ในขณะนั้นบางคนต้องเดินเท้ามานานนับชั่วโมงโดยมิย่อท้อ เดินทางมาเพื่อให้พบพระอาจารย์หนุ่มท่านนี้ให้จงได้ ด้วยเหตุที่หลวงพ่อหวั่นเป็นผู้มีเมตตาสูงใครไปใครมาขอเมตตาอะไรจากท่านก็ล้วนแต่สำเร็จจากปากสู่หูที่บอกเล่ากล่าวต่อกันไป ทำให้ชื่อเสียงของท่านนั้นกระจายไปทั่วทุกสารทิศ
วัตถุมงคล
การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อหวั่นนั้นเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ หลวงพ่อหวั่นได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระครูชั้นเอกและฉลองพัดยศในวนที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ คณะศิษย์หลวงพ่อหวั่น ได้สร้างเหรียญรุ่นแรกที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทุกคนรอคอย คือรูปเหมือนแทนกายท่าน วัดได้สร้างเหรียญขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อแจกในวาระที่หลวงพ่อหวั่นรับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระครูชั้นเอกลักษณะเหรียญเป็นแบบแฉกคล้ายจักร หรือแบบพัดยศของพระครู อันเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ชั้นพระครูนั่นเอง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อหวั่น ครึ่งองค์จารึกนามสมณศักดิ์ว่า พระครูพิพิธธรรมาทร รุ่นหนึ่ง สำหรับเหรียญรุ่นนี้มีเนื้ออัลปาก้าเพียงเนื้อเดียวสร้างจำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นยันต์กระบองไขว้ว่า ?นะโมพุทธายะ? คือยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ นอกจากพระสมเด็จแล้วยังมีพระพิมพ์นางพญาเนื้อผงใบลานเช่นกัน ด้านหน้าจะเป็นรูปพระนางพญาพิมพ์เข่าตรง ส่วนด้านหลังตรงกลางจะเป็นยันต์ขอมว่า อิ สวาสุ จารึกหนังสือไทยไว้ว่า พระครูพิพิธธรรมาทร วัดคลองคูณ
ด้วยชื่อชั้นที่ไม่ธรรมดา ด้วยบารมีที่มากล้น ส่งผลให้วัตถุมงคลของหลวงพ่อหวั่นได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะสร้างออกมากี่รุ่นก็มีกระแสศรัทธาล้นหลาม บางรุ่นมีประสบการณ์ดังทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ และปรากฏอยู่ในเว็บไชต์ยอดฮิตทั้งหลาย ส่วนราคาค่านิยมนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น บางชนิดราคาวิ่งไปหลายเท่าตัว
นอกจากนี้หลวงพ่อหวั่นนั้นเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เข้มขลังมากๆ ในเรื่องตะกรุดสาลิกา และตะกรุดมหาอุด ท่านทำตะกรุดตั้งแต่พรรษายังไม่มาก เมื่อลงตะกรุดแรกๆ ก็แจกให้ญาติพี่น้องกันก่อน ปรากฏว่าเกิดประสบการณ์ต่างๆ ในด้านเมตตา โชคลาภ ตลอดจนคงกระพันชาตรี ตะกรุดของท่านจึงขยายวงกว้างแห่งความศรัทธาสู่ญาติโยมไปทั่ว ด้วยความศรัทธาในบารมีความเข้มขลังของหลวงพ่อหวั่น จึงมีการขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลของท่านหลายรุ่นทั้งที่ออกในนามวัดคลองคูณโดยตรงและคณะศิษยานุศิษย์จัดสร้าง ซึ่งทุกรุ่นล้วนเป็นที่นิยมและมีประสบการณ์ให้กล่าวขานมากมาย
หลวงพ่อหวั่น มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 สิริอายุรวม 85 ปี